ตาอัจฉริยะพลัง AI เสริมสร้างความปลอดภัยบนท้องถนน


Latest News
Face of man driving car reflected on rear-view mirror

โดยเฉลี่ยแล้ว ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนสูงถึง 66 คนในแต่ละวัน อุบัติเหตุจำนวนมากมีสาเหตุมาจากความประมาทและความเหนื่อยล้าสะสมของผู้ขับขี่ขณะกำลังเดินทางสัญจรบนเส้นทางที่เต็มไปด้วยผู้ใช้รถใช้ถนน และหนึ่งในเส้นทางที่มีความเสี่ยงสูงสุดในเมืองไทยก็คือเส้นทางยาว 180 กิโลเมตรที่เชื่อมกรุงเทพฯ เข้ากับพื้นที่อุตสาหกรรมอย่างจังหวัดระยอง

บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ จีซี เป็นหนึ่งในหลายๆ บริษัทที่มีสำนักงานและฐานการผลิตอยู่ในกรุงเทพฯ และระยอง จึงทำให้พนักงานของบริษัทต้องเดินทางไป-กลับบนเส้นทางนี้มากถึง 8,000 เที่ยวต่อปีด้วยบริการรถรับส่งของบริษัท เมื่อจังหวะชีวิตของพนักงานจำนวนมากต้องมาผูกอยู่กับความปลอดภัยบนท้องถนน ทางจีซีเองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ เริ่มลงมือค้นหาวิธีการที่เหมาะสมในการลดความเสี่ยงให้กับทุกชีวิตบนเส้นทางกรุงเทพฯ-ระยอง

การค้นหาของจีซีสิ้นสุดลงเมื่อคุณชัชวลิต ธรรมสโรช ผู้จัดการฝ่าย หน่วยงานบริหารทั่วไปของจีซี ได้สัมผัสกับระบบ AI จดจำใบหน้าเป็นครั้งแรกที่สำนักงานใหญ่ของไมโครซอฟท์ในเมืองเรดมอนด์ รัฐวอชิงตัน

ยกระดับความปลอดภัยในการเดินทางด้วย AI

“ผมได้มองเห็นว่า AI สามารถนำไปใช้งานในรูปแบบใดบ้าง และเริ่มคิดทันทีว่าเราสามารถนำเทคโนโลยีนี้ไปประยุกต์ใช้ในประเทศไทยได้อย่างไร” คุณชัชวลิตเล่า “เมื่อเดินทางกลับมาถึงประเทศไทย ผมจึงเริ่มเปิดประเด็นนี้กับตัวแทนของไมโครซอฟท์ในประเทศไทยทันที”

เมื่อมีแนวคิดนี้เป็นจุดตั้งต้นแล้ว คุณชัชวลิตต้องเดินหน้าแก้โจทย์ต่อไป ซึ่งก็คือการจัดหางบประมาณสำหรับโครงการนั่นเอง “ทริปที่ผมเดินทางไปดูงานที่ไมโครซอฟท์มีงบประมาณที่กำหนดไว้แล้ว ผลที่ออกมาก็คือผมมีแนวคิดใหม่ติดตัวกลับมาด้วย แต่ยังไม่มีงบให้เดินหน้าต่อได้”

คุณชัชวลิตนำแนวคิดสำหรับโครงการนี้เข้าไปปรึกษากับผู้บริหารระดับสูงในการประชุมเรื่องความปลอดภัยของพนักงาน ก่อนจะประสานงานกับฟรอนทิส บริษัทที่ปรึกษาชั้นนำด้านการวางแผนกลยุทธ์และการนำนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ในองค์กร เพื่อให้เริ่มประเมินราคา ออกแบบ และพัฒนาระบบ จนนำไปสู่จุดเริ่มต้นของโครงการ “AI for Road Safety”

Man instructing driver about onboard camera system
จีซีทำงานอย่างใกล้ชิดกับพนักงานขับรถรับส่งเพื่อพัฒนาโซลูชั่น “AI for Road Safety” ที่ติดตามพฤติกรรมของพนักงานขับรถเพื่อลดความเสี่ยงบนท้องถนน

ระบบที่จีซีและฟรอนทิสพัฒนาขึ้น ผสมผสานระบบ AI จดจำใบหน้าเข้ากับการวิเคราะห์ข้อมูลและวิดีโอเพื่อสังเกตการณ์พฤติกรรมของพนักงานขับรถในแบบเรียลไทม์ โดยจะคอยมองหาสัญญาณของอาการเหนื่อยล้า ง่วงนอน หรือเสียสมาธิ

รถยนต์ที่ติดตั้งระบบ AI for Road Safety นี้ จะมาพร้อมกับกล้องที่จับภาพใบหน้าของพนักงานขับ และระบบ GPS สำหรับตรวจจับความเร็วของตัวรถ โดยภาพใบหน้าของผู้ขับขี่จะถูกส่งไปวิเคราะห์ด้วยระบบ machine learning บนแพลตฟอร์มคลาวด์ พนักงานขับที่มีสัญญาณของพฤติกรรมเสี่ยงจะได้รับสัญญาณแจ้งเตือน ส่วนผู้จัดการบริการรถรับส่งก็สามารถส่งพนักงานขับคนใหม่ออกมารับช่วงต่อได้หากจำเป็น

นอกจากนี้ ทีมผู้บริหารยังสามารถดูข้อมูลการทำงานของพนักงานขับในเชิงลึกได้จากหน้าจอแดชบอร์ดที่พัฒนาขึ้นจาก PowerBI ของไมโครซอฟท์ เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลที่รวบรวมมาในระยะยาว และนำผลที่ได้มาประกอบการวางแผนงานเพื่อความปลอดภัยของพนักงานต่อไป โดยทีมงานสามารถสังเกตเห็นถนนบางช่วงที่อาจทำให้ผู้ขับขี่มีโอกาสเสียสมาธิและละสายตาจากถนนข้างหน้าได้มากกว่าปกติ และแจ้งเตือนพนักงานขับให้รับทราบล่วงหน้า หรือปรับเส้นทางเพื่อหลีกเลี่ยงพื้นที่เสี่ยง และหากเกิดอุบัติเหตุ ระบบก็จะบันทึกข้อมูลทั้งหมดไว้ประกอบการวางแผนงานเพื่อป้องกันการเกิดเหตุซ้ำสอง ขณะที่การฝึกสอนพนักงานขับแต่ละคนก็สามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ประกอบได้ เพื่อให้เสริมจุดเด่น ปรับปรุงจุดด้อยของพนักงานได้อย่างแม่นยำ

Man in suit standing and smiling
คุณชัชวลิต ธรรมสโรช

คุณชัชวลิตเผยว่า “เราทำงานอย่างใกล้ชิดกับพนักงานขับในการพัฒนาโซลูชั่น AI for Road Safety นี้ ก่อนจะเริ่มต้นด้วยการติดตั้งในรถตู้รับส่งพนักงานจำนวน 4 คัน โดยสิ่งแรกที่เราพิจารณาในโครงการนี้ก็คือการเก็บข้อมูลจากตัวรถอย่างปลอดภัย ไม่ละเมิดความเป็นส่วนตัวของพนักงานขับ และเก็บรักษาข้อมูลทั้งหมดไว้สำหรับใช้ลดความเสี่ยงบนท้องถนนและฝึกสอนพนักงานขับเท่านั้น”

คุณเพิ่มศักดิ์ เพ็งประภา พนักงานขับรถของจีซี กล่าวอีกว่า “นี่เป็นครั้งแรกที่ผมได้สัมผัสกับ AI ในการทำงาน ซึ่งผมเองมองว่าเป็นความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี ระบบนี้ช่วยให้ผมขับรถได้อย่างมีสมาธิมากขึ้น และมีโอกาสที่จะเรียนรู้และพัฒนาการขับให้ดียิ่งขึ้นอยู่เสมอ”

แน่นอนว่าทั้งจีซีและฟรอนทิสต้องพบกับความท้าทายไม่น้อยในการพัฒนาระบบ AI for Road Safety เช่นในกรณีของระบบต้นแบบรุ่นแรก ซึ่งใช้กล้องที่มีขนาดใหญ่จนขัดขวางมุมมองและทำให้พนักงานขับเสียสมาธิ จึงทำให้ต้องเลือกกล้อ

งที่มีขนาดเล็กลงมาติดตั้งแทน ส่วนระบบ AI ตรวจจับใบหน้า ซึ่งพัฒนาขึ้นจาก Face API ในบริการ Cognitive Services ของไมโครซอฟท์นั้น ก็จำเป็นต้องปรับแต่งการทำงานให้รองรับลักษณะพฤติกรรมที่แตกต่างกันไปของพนักงานขับแต่ละคน

“หากพูดถึงแค่การตรวจหาสัญญาณของอาการง่วงนอน เราก็มีพฤติกรรมที่เป็นสัญญาณมากมายแล้ว เราจึงต้องคัดเลือกสัญญาณที่จะตรวจจับให้พอเหมาะพอดีและแม่นยำ” คุณชัชวลิตอธิบาย

เมื่อใช้งานระบบไปเรื่อยๆ ตัวระบบ Machine Learning ที่ทำหน้าที่วิเคราะห์ข้อมูลก็จะคอยเรียนรู้จากภาพใบหน้าที่กล้องจับไว้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถตรวจหาสัญญาณของความง่วงได้แม่นยำยิ่งขึ้น โดยในอนาคต ระบบอาจสามารถตรวจจับสัญญาณบ่งบอกพฤติกรรมที่ถือเป็นลักษณะเฉพาะตัวของแต่ละบุคคลได้

เสริมศักยภาพรอบด้าน กับ AI บนท้องถนนรายแรกของไทย

นอกจากความสามารถในด้านการเสริมสร้างความปลอดภัยให้กับพนักงานแล้ว โซลูชั่น AI for Road Safety ยังสามารถนำไปปรับใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและลดต้นทุนลงได้อีกด้วย

เส้นทางและตารางการเดินรถรับส่งพนักงานที่ถูกบันทึกไว้ในระบบ สามารถนำมาวิเคราะห์และปรับเปลี่ยนให้ตรงกับความต้องการของพนักงานผู้โดยสารมากยิ่งขึ้น ขณะที่ข้อมูลพิกัดตำแหน่งรถจากระบบ GPS ก็อาจนำมาใช้ประกอบการพิจารณาซ่อมบำรุงรถและควบคุมความเร็วเพื่อช่วยประหยัดเชื้อเพลิง

โครงการ AI for Road Safety ถือเป็นครั้งแรกที่มีการนำระบบ AI ตรวจจับใบหน้ามาใช้งานในยานพาหนะบนท้องถนนของเมืองไทย จึงถือเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญของทางจีซีและฟรอนทิส และยังเป็นกรณีตัวอย่างที่น่าสนใจสำหรับทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ที่ต่างตระหนักดีถึงความเสี่ยงจากอุบัติเหตุทางรถยนต์

สำหรับจีซีเอง โครงการนี้ถือเป็นส่วนสำคัญของกิจกรรมเพื่อสังคมของบริษัท ทั้งนี้ จีซีมีแผนที่จะขยายการใช้งานเทคโนโลยีนี้ออกไปในบริษัทลูกและกิจการที่เกี่ยวข้องกว่า 10 แห่งในช่วง 3 ปีข้างหน้านี้ เพื่อเสริมสร้างความปลอดภัยและประสิทธิภาพการทำงานให้กับพนักงานอีกถึง 4,100 คน

Man instructing drivers in training session with dashboard data
โครงการ AI for Road Safety ได้ช่วยให้จีซียกระดับการฝึกสอนพนักงานขับรถให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อเสริมสร้างความปลอดภัยให้กับพนักงานและผู้ใช้รถใช้ถนน

“ในฐานะผู้นำด้านนวัตกรรมเคมีภัณฑ์ของประเทศ บริษัทฯ ตระหนักถึงความปลอดภัยเป็นสิ่งสำคัญอันดับหนึ่ง โดยเป้าหมายสูงสุดคือ ต้องไม่มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นในทุกพื้นที่โรงงาน สำนักงาน และเขตอุตสาหกรรมของเรา” คุณชัชวลิตกล่าว “การนำระบบ AI นี้มาใช้งาน ไม่เพียงทำให้เกิดประโยชน์กับบริษัทเท่านั้น แต่ยังช่วยเสริมความอุ่นใจให้กับครอบครัวของพนักงานทุกคน ที่ต่างก็ต้องการให้สมาชิกของครอบครัวได้กลับบ้านอย่างปลอดภัย พร้อมหน้าพร้อมตากันทุกวัน”

ผลสำรวจเผย องค์กรไทยยังต้องยกระดับศักยภาพหลายด้าน เพื่อก้าวสู่ยุค AI อย่างเต็มตัว

ความสำเร็จของจีซีถือเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับภาคธุรกิจไทยในด้านความพร้อมที่จะนำ AI มาผนึกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของการทำงาน แต่หากถอยมามองในภาพรวมแล้ว องค์กรในประเทศไทยยังจะต้องพัฒนาศักยภาพในอีกหลายมิติ

รายงานวิจัยในหัวข้อ “Future Ready Business: Assessing Asia Pacific’s Growth Potential Through AI” ซึ่งจัดทำขึ้นร่วมกันโดยไมโครซอฟท์และไอดีซี เผยให้เห็นว่าภาคธุรกิจไทยยังขาดการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานเชิงข้อมูลและแนวทางการลงทุน ถึงแม้ว่าจะค่อนข้างมีความพร้อมในเชิงวัฒนธรรมองค์กร กลยุทธ์ และโครงสร้างพื้นฐานด้านไอที

ไมเคิล อะราเน็ตตา รองประธานบริหาร ไอดีซี ไฟแนนเชียล อินไซต์ กล่าวว่า “ประเทศไทยยังต้องเสริมความพร้อมในหลายมิติ เพื่อให้คว้าโอกาสจากพลังของ AI ได้ อย่างเต็มที่ ขณะที่หลายๆ ธุรกิจของไทยประกาศความมุ่งมั่นในการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรเพื่อเปิดรับเทคโนโลยีไปแล้ว แต่ก็ยังมีสิ่งสำคัญอีกหลายอย่างที่ต้องดำเนินการเพื่อทำให้เกิดกลยุทธ์ AI ที่ชัดเจน เช่นโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่ง และระบบข้อมูลที่เพียบพร้อม เปิดให้เข้าถึงได้โดยสมบูรณ์ ปัจจัยทั้งหมดนี้จะปูทางไปสู่ความสามารถที่ดีขึ้นของ AI และผลกระทบทางธุรกิจที่สัมผัสได้อย่างแท้จริง ภาคธุรกิจจะต้องลงทุนอย่างต่อเนื่องในเทคโนโลยีแห่งอนาคตนี้ และสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ที่ยั่งยืน มุ่งเน้นความคล่องตัว เพื่อวางรากฐานของความสำเร็จในระยะยาว โดยที่ในบางกรณี อาจไม่ได้เห็นผลตอบแทนเป็นเม็ดเงินในทันที”

Resource : microsoft